มหาสติปัฏฐาน 4 อริยมรรคมีองค์ 8

Last updated: 21 ก.ค. 2564  |  29315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มหาสติปัฏฐาน 4 อริยมรรคมีองค์ 8

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...

ทางนี้เป็นทางสายเอก เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว  เพื่อความบริสุทธิ์หมดจด วิเศษยิ่ง ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อที่ก้าวล่วงพ้นไปจากความโศก ความร่ำไร  เพื่อความดับทุกข์และโทมนัส คับแค้นใจ น้อยใจ  เพื่อที่จะบรรลุธรรม อันจะนำพาสัตว์ทั้งหลาย  ให้หลุดพ้นออกไปจากวัฏฏสงสารเพื่อที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือ  มหาสติปัฏฐานสี่

มหาสติปัฏฐาน 4 คืออะไรบ้าง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้  พิจารณาเห็น กายในกาย อยู่เนืองๆ  พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนา อยู่เนืองๆ  พิจารณาเห็น จิตในจิต อยู่เนืองๆ  พิจารณาเห็น ธรรมในธรรม อยู่เนืองๆ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกให้พินาศ



อานิสงส์ของการเจริญมหาสติปัฏฐาน 4

ผู้เจริญมหาสติปัฏฐาน 4 ตลอด 7 วัน... 7 เดือน... 7 ปี ย่อมหวังผล 2 ประการ อันใดอันหนึ่ง คือ บรรลุพระอรหันต์ในปัจจุบันชาติ หรือ บรรลุเป็นพระอนาคามี ในปัจจุบันชาติ ถ้ายังมีความยึดมั่นเหลืออยู่


คำอธิบาย

กายนอก คือ มหาภูติรูปทั้ง 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นรูปหยาบ

กายใน คือ ขันธ์ ๕ เกิด-ดับ เป็นรูปละเอียด ซ้อนอยู่ในกายอีกที ขณะเคลื่อนไหวร่างกาย หงายมือจะมีความรู้สึก วุ้บๆ อุ่นๆ ร้อนๆ เป็นสภาวธรรมเกิด-ดับ อยู่ภายใน

เวทนานอก เกิดจากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทางกาย และความคิดนึก จะเกิดความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เฉยๆบ้าง

เวทนาใน คือ เห็นขันธ์ 5 เกิด-ดับ ในความรู้สึกนั้นขณะกระทบ

จิตนอก คือ จิตที่ประกอบด้วยอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ หรืออื่นๆ

จิตใน คือ วิญญาณ เกิด-ดับ รับรู้อารมณ์อยู่ทุกขณะ

ธรรมนอก คือ ธรรมทั้ง 84000 พระธรรมขันธ์ หรือแม้แต่ความคิดที่พิจารณาธรรม เป็นธรรมสมมุติ

ธรรมใน สภาวธรรมที่เกิดจากการที่เราดูจิต

 

จิตที่ดำเนินไปในเส้นทางมหาสติปัฏฐานสี่ อริยมรรคมีองค์แปด ... ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมเดินไปพร้อมกัน ธรรมจักรย่อมหมุนไป ตัดกระแสแห่งวัฏฏสงสาร เพื่อถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นสภาพสิ้นทุกข์  ไม่มีความกังวลจิตที่ดำเนินไปในเส้นทางมหาสติปัฏฐานสี่ อริยมรรคมีองค์แปด ... ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมเดินไปพร้อมกัน ธรรมจักรย่อมหมุนไป ตัดกระแสแห่งวัฏฏสงสาร เพื่อถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นสภาพสิ้นทุกข์  ไม่มีความกังวลพระพุทธองค์ ตรัสเปรียบเทียบว่า หม้อน้ำที่ไม่ฐานรองรับ ย่อมกลิ้งตกไป ได้ง่าย หม้อน้ำที่มีฐานรองรับ ย่อมกลิ้งตกไปได้ยากฉันใด จิตที่ไม่มี ฐานรองรับ ย่อมตกไปในที่ต่ำได้ง่าย ส่วนจิตที่มีฐานรองรับ ย่อมตกไปที่ต่ำได้ยากฉันนั้น...
 
 
อะไร.. คือฐานรองรับจิต? 

อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นฐานรองรับจิต มีดังนี้

1 . เห็นถูกต้อง  (สัมมาทิฏฐิ) 2. คิดถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) 3. พูดถูกต้อง (สัมมาวาจา) 4. ทำถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ)
 5. อาชีพถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ)   6. เพียรถูกต้อง (สัมมาวายามะ)   7. สติถูกต้อง (สัมมาสติ)   8. สมาธิถูกต้อง (สัมมาสมาธิ)

จิตที่ดำเนินไปในเส้นทางแห่ง มหาสติปัฏฐาน 4 อริยมรรคมีองค์ 8 ...ศีล-สมาธิ-ปัญญา ย่อมเดินไปพร้อมกัน   

อริยมรรคมีองค์ 8 คืออะไรบ้าง

1. เห็นถูกต้อง  คือ เห็นตามอริยสัจ 4  2. คิดถูกต้อง
  คือ ใจบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากอารมณ์ โลภ โกรธ หลง เป็นไปเพื่อความสุข ความเมตตา  ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
3. พูดถูกต้อง  คือ พูดในสิ่งที่เป็นจริง เป็นประโยชน์ ถูกกาละเทศะ สุภาพและอ่อนโยน ด้วยจิตเมตตา และหวังดี  4. ทำถูกต้อง  คือ มีเมตตา(ไม่ฆ่าสัตว์) ซื่อสัตย์(ไม่ลักทรัพย์) ให้ทาน สำรวมในคู่ของตน  5. อาชีพบริสุทธิ์  เมื่อเห็นถูกต้อง คิดถูกต้อง พูดถูกต้อง ทำถูกต้อง อาชีพย่อมบริสุทธิ์  6. เพียรถูกต้อง  คือ เพียรในการละบาปเก่า ระวังบาปใหม่ที่จะเข้ามา เพียรสร้างกุศล และรักษากุศลที่สร้างไว้ไม่ให้เสื่อม   7 . สติถูกต้อง   คือ การระลึกเป็นภายในอยู่เนืองๆ คือ ระลึกไปตามฐานทั้ง 4 คือ มหาสติปัฏฐาน 4    8. สมาธิถูกต้อง  คือ เมื่อจิตสงบ จิตจึงตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น ฌาน,ญาณจึงเกิด
 





[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน?
 
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘  นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
 
ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน  ความรู้ในทุกข์ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด ความรู้ในความดับทุกข์  ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
 
สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท  ความดำริในอันไม่เบียดเบียน  อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
 
สัมมาวาจาเป็นไฉน? การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา
 
สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? การงดเว้นจากการล้างผลาญชีวิต  งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
 
สัมมาอาชีวะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิด สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
 
สัมมาวายามะเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ให้เกิดฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น  เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว  เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น  เพื่อความตั้งอยู่  ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว  อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
 
สัมมาสติเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่...พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่  มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ
 
สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม   ... บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน  เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข  อันเกิดแต่สมาธิอยู่ 

เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป 

บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้

มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.             
 
[๑๕๐] ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง  พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง  พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง  พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้างย่อมอยู่
 
อนึ่ง สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น  เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้